พิพิธภัณฑ์ผู้พันไก่สะสมของโบราณพิษณุโลก
ยินดีต้อนรับเข้าสู่พิพิธภัณฑ์สะสมของโบราณผู้พันไก่พิษณุโลกโดย พันเอกเกียรติกุล ก่อพงศาสตร์
ยินดีต้อนรับเข้าสู่พิพิธภัณฑ์สะสมของโบราณผู้พันไก่พิษณุโลกโดย พันเอกเกียรติกุล ก่อพงศาสตร์
กล้องกระโปรงสมัยโบราณ
คนเก่าๆคงได้ทันถ่ายรูปขาวดำกับกล้องแบบนี้กันนะครับ
ฟิล์มกระจก คือการนำแผ่นกระจกมาใช้รองรับการบันทึกภาพ เป็นการพัฒนาจากการถ่ายภาพ ระบบดาแกโรไทป์ (Daguerreotype) ที่ใช้แผ่นโลหะเคลือบสารเคมีเป็นวัสดุในการรองรับการถ่ายภาพ มาเป็นการใช้แผ่นกระจกเคลือบสารเคมีแทน ขนาดของฟิล์มกระจกประกอบด้วยหลากหลายขนาด ตั้งแต่ 4 นิ้ว ถึง 12 นิ้ว


ภาพนี้เป็นภาพจากฟิล์มกระจกโดยตรง ก่อนที่จะนำมาอัดเป็นภาพกระดาษ
เชื่อหรือไม่ว่า เมื่อนักประดิษฐ์ชาวฝรั่งเศสนามว่า หลุยส์ เจ.เอ็ม. ดาแกร์ (Louis J.M. Daguerre) ได้ถ่ายรูปได้สำเร็จเป็นครั้งแรกของโลก ใน พ.ศ. 2382 เพียงแค่ 6 ปีต่อมา การถ่ายรูปก็เดินทางมาถึงสยามประเทศในสมัยรัชกาลที่ 3 โดยเข้ามากับคณะเผยแผ่ศาสนาคริสต์ โดยบาทหลวงลาร์นอดี (L’ Abbé Larnaudie) ได้นำกล้องถ่ายรูปเข้ามากรุงเทพฯ ใน พ.ศ. 2388 ตามคำสั่งของพระสังฆราช ฌ็อง บาติสต์ ปาลเลอกัวซ์ (Jean-Baptiste Pallegoix) ชาวฝรั่งเศสที่ได้ประจำอยู่ในกรุงเทพฯ มาก่อนแล้ว บาทหลวงลาร์นอดี จึงถือว่าเป็นช่างถ่ายรูปคนแรกของประเทศ และได้ถ่ายทอดวิชาการถ่ายภาพให้แก่พระยากรสาปน์กิจโกศล (โหมด อมาตยกุล), หลวงอัคนีนฤมิตร (จิตร จิตราคนี หรือ ฟรานซิสจิตร) และพระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) ซึ่งเป็นช่างภาพรุ่นแรกของไทย

ราษฎรพายเรือมารอรับเสด็จ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่วัดไลย์ เมืองลพบุรี พ.ศ. 2449
การถ่ายรูปในช่วงแรกๆ ไม่ค่อยได้รับความนิยมมาก คนไทยยังไม่กล้าถ่ายรูป เพราะเกรงกลัวว่าจะอายุสั้น หรือเชื่อว่าภาพถ่ายจะดูดเอาวิญญาณของคนถูกถ่ายไปด้วย
เมื่อพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ ทรงเป็นกษัตริย์ที่สนพระราชหฤทัยในความรู้และความเจริญก้าวหน้าทางวิทยาการจากต่างประเทศอย่างจริงจัง เป็นพระองค์แรกที่ได้ฉายพระรูป และทรงใช้เป็นเครื่องมือประชาสัมพันธ์พระองค์และสยามประเทศ ด้วยการส่งพระบรมฉายาลักษณ์ไปให้ประมุขประเทศต่าง เช่น ประเทศอังกฤษ และสหรัฐอเมริกา
การถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจกจึงเริ่มแพร่หลายมากขึ้นในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โดยในยุคแรกนิยมในหมู่ชนชั้นสูง เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่สูง
การถ่ายรูปในสยามประเทศได้พุ่งขึ้นสูง ในช่วงสมัยปลายรัชกาลที่ 5 พระองค์ได้ทรงเล่นกล้องถ่ายรูปด้วยฟิล์มกระจกอย่างจริงจัง เวลาเสด็จประพาส ณ ที่ใด จะทรงมีกล้องถ่ายรูปติดพระองค์ไปด้วยแทบทุกครั้ง ทรงถ่ายรูปเองมากมาย ทำให้เจ้านาย ขุนนาง พ่อค้า ข้าราชการ นิยมเล่นกล้องถ่ายรูปกันแพร่หลาย เกิดรูปถ่ายมากมาย
จนถึงช่วง พ.ศ. 2488 เริ่มมีการถ่ายรูปด้วยฟิล์มชนิดเซลลูลอยด์ ที่ทันสมัยและล้างอัดได้ง่ายกว่า ทำให้การถ่ายภาพด้วยฟิล์มกระจกได้รับความนิยมลดลงและเลิกใช้ในการบันทึกภาพทั่วไป หลงเหลือแต่เพียงกลุ่มเล็กๆ ก่อนจะค่อยๆ หมดความนิยมไป